วันอาทิตย์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

โรคแพ้อากาศ โรคฮิตของคนเมือง

โรคแพ้อากาศ 
by นพ.สิทธวีร์ เกียรติชวนันต์


โรคที่พบบ่อยที่สุดโรคหนึ่ง ที่คนมักจะพูดกันว่า “ใครๆเขาก็เป็นกัน”  นั่นคือ
โรคแพ้อากาศ ผมเองก็เคยป่วยเป็นโรคนี้สมัยเป็นนักเรียนแพทย์ปีที่ 2-3
ที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล  เป็นรุนแรงขนาดจามและน้ำมูกไหลตลอดทั้งวัน
ต้องใช้กระดาษทิชชู่ เช็ดน้ำมูกเป็นม้วนๆต่อวัน  ทำให้ขาดสมาธิในการเรียน พอหนักเข้าก็โดดเรียนไปเลย
แต่โชคดีที่อยู่ในโรงเรียนแพทย์  จึงมีนักศึกษาแพทย์รุ่นพี่พาไปพบอาจารย์ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา
(หู คอ จมูก) ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในเรื่องโรคแพ้อากาศโดยตรง ทำผลงานวิจัยและเขียนตำราจนเป็น
ศาสตราจารย์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของประเทศไทยในขณะนั้น ผมได้รับการรักษาด้วยการฉีดวัคซีน
กระตุ้นภูมิต้านทานต่อสิ่งที่แพ้  ภายหลังจากทราบสารก่อภูมิแพ้ด้วยการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง
ผมถูกฉีดวัคซีนอยู่นานหลายปี จากฉีดทุกสัปดาห์ในช่วงแรกแล้วค่อยๆห่างขึ้นจนภายหลังฉีดห่างเป็น
1-2 เดือนต่อครั้ง อาการต่างๆที่เคยเป็นก็ค่อยๆดีขึ้นเป็นลำดับจนกระทั่งในที่สุดก็หายเป็นปกติ
ด้วยความผูกพันที่มีต่อภาควิชานี้ เมื่อจบออกไปเป็นแพทย์ในอีกหลายปีต่อมา หลังทำงานอยู่ใน
โรงพยาบาลชุมชน 3 ปี ก็กลับเข้ามาเรียนต่อที่ภาควิชานี้อีก 3 ปี จนได้รับวุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญสาขา
หู คอ จมูก หลังจากจบเป็นแพทย์ผู้เชียวชาญได้เข้าไปทำงานที่โรงพยาบาลบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรีพร้อมๆ
กับเปิดคลินิกรักษาโรค หู คอ จมูกและภูมิแพ้ ในการตรวจรักษาผู้ป่วยทั้งที่โรงพยาบาลและที่คลินิก
โรคที่พบบ่อยที่สุดอย่างไม่ต้องสงสัยก็คือ “โรคแพ้อากาศ” บางครั้งซักประวัติผู้ป่วย 1-2 ประโยค
ก็แทบจะวินิจฉัยได้โดยไม่ต้องตรวจแล้วว่าเป็นโรคแพ้อากาศ พอตรวจจมูกเพิ่มเติม ก็ยืนยันชัดเจนว่าเป็น
โรคนี้ ผมได้รักษาผู้ป่วยโรคแพ้อากาศไปเป็นจำนวนมากตลอดระยะเวลา 18 ปีที่ผ่านมา ให้การรักษาด้วย
การรับประทานยา ใช้ยาพ่นจมูก ตลอดจนฉีดวัคซีนกระตุ้น ทั้งที่โรงพยาบาลและคลินิกด้วยความที่เป็นโรค
ที่พบได้บ่อย  ฉบับนี้จึงอยากให้ทุกๆท่านมีความรู้เกี่ยวกับ “โรคแพ้อากาศ” เพิ่มมากขึ้น
“โรคแพ้อากาศ” ชื่อที่ถูกต้องของโรคนี้คือ “โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้” เป็นโรคที่พบได้ทุกเพศ ทุกวัย
และทุกเชื้อชาติทั่วโลก อุบัติการณ์ของโรคนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันพบว่าโดยเฉลี่ยผู้ใหญ่เป็น
ร้อยละ 20 และเด็กเป็นร้อยละประมาณ 40 ผู้ป่วยส่วนมากจะมีอาการเกิดขึ้นขณะที่อากาศเปลี่ยนแปลง
หรือมีอาการชัดเจนเฉพาะบางฤดู จึงทำให้ได้ชื่อว่าโรคแพ้อากาศ
อาการที่พบบ่อย ได้แก่
  1. คันจมูก บางรายอาจคันตา คันเพดาน คันในคอ
  2. จามติดๆกันหลายๆครั้ง
  3. มีน้ำมูกใสๆไหลมาก
  4. คัดแน่นจมูก มักเป็นสลับข้างกัน
  5. อาการอื่นๆ เช่น หูอื้อ ปวดมึนศีรษะ จมูกไม่ได้กลิ่นน้ำมูกไหลลงคอ หรือมีเสมหะติดในคอหรือมีอาการอ่อนเพลีย
สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ

   1. เหตุนำ  เกิดจากความผิดปกติของระบบสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย ซึ่งเชื่อว่าเป็นกรรมพันธุ์ 
ดังนั้นผู้ที่เกิดมาในครอบครัวที่มีโรคภูมิแพ้อยู่ด้วยไม่ว่าจะเป็นโรคหอบหืด โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ ผื่นผิวหนังหรือลมพิษมีโอกาสที่จะเป็นโรคในกลุ่มนี้ได้มากกว่าคนอื่นๆ
   2. เหตุโดยตรง คือ คือสารก่อภูมิแพ้ที่มีอยู่รอบๆ ตัวเรา และ มีอยู่ในอากาศที่เราหายใจเข้าไป
สารก่อภูมิแพ้ที่ได้พบบ่อย คือฝุ่นในบ้าน ตัวไรในฝุ่นบ้าน นุ่น ขนและรังแคของสัตว์เลี้ยง เชื้อราในอากาศ ละอองเกสรของหญ้า และวัชพืชต่างๆสิ่งขับถ่ายของแมลงที่อยู่ในบ้าน เช่น แมลงสาบ ยุง 
และมด ผู้ป่วยบางรายอาจแพ้สารบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับงานอาชีพ เช่น ปุ๋ย อาหารสัตว์
   3. เหตุเสริม ได้แก่ สาเหตุอืนๆ ที่ไม่ไช่สารก่อภูมิแพ้ คือ
        - สารที่ระคายเคืองต่อเยื่อบุจมูกโดยตรง เช่น ควันไฟ ควันท่อไอเสียรถ ควันบุหรี่ กลิ่นฉุนๆ 
กลิ่นน้ำหอม สเปรย์ และ ฝุ่นละอองต่างๆ
           - การเปลี่ยนแปลงของอากาศ เช่น อากาศร้อนจัด เย็นจัด ฝนตก พัดลมเป่า แอร์เป่า เป็นต้น
           - ร่างกายอ่อนเพลีย  เนื่องจากอดนอน ทำงานหนัก ขาดการออกกำลังกาย ฯลฯ
           - อารมณ์ตึงเครียด วิตกกังวล ไม่สบายใจ
           - โรคติดเชื้อ เช่น ต่อมทอนซิลอักเสบ เจ็บคอ ฟันผุ หรือไข้หวัด จะทำให้สุขภาพอ่อนแอ
เป็นเหตุให้ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้มีอาการมากขึ้นได้

แนวทางการรักษา
  1. ไปพบแพทย์  เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยว่าเป็นโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้จริงหรือไม่
บางรายต้องทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง หลังทดสอบประมาณ 20 นาทีจะทราบว่าแพ้อะไรบ้าง
และแพ้มากน้อยเพียงใด เมื่อวินิจฉัยแน่ชัดแล้ว แพทย์มักจะให้การรักษาด้วยการให้ผู้ป่วย
รับประทานยาใช้ยาพ่นจมูกหรือพิจารณาฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิต้านทานในบางรายที่มีอาการมาก
  1. พยายามกำจัดและหลีกเลี่ยงจากสิ่งที่แพ้ ผู้ป่วยที่สามารถกำจัดหรือลดปริมาณ                 ของสารก่อภูมิแพ้ที่มีอยู่ในสิ่งแวดล้อมรอบๆตัวให้เหลือน้อยที่สุดอาการอาจจะดีขึ้น              โดยไม่ต้องรักษาเลยก็ได้ ดังนั้นจึงต้องเน้นให้ทำก่อนเป็นอันดับแรก
  2. พยายามหลีกเลี่ยงสารระคายเคืองต่างๆ ที่ทำให้เกิดอาการ เนื่องจากเยื่อบุจมูก               ของผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ จะมีความว่องไวต่อสารระคายเคืองเหล่านี้มากกว่าคนปกติทั่วไป
  3. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ  จะช่วยเพิ่มภูมิต้านทาน ทำให้โรคภูมิแพ้ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว             
  4. พักผ่อนให้เพียงพอและไม่เครียด 
โรคแทรกซ้อน
โรคแทรกซ้อนที่พบได้บ่อย คือ โรคไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ คออักเสบ  
ริดสีดวงจมูกและโรคหอบหืด

ดังนั้นเมื่อทราบว่าป่วยเป็นโรคภูมิแพ้จึงควรรีบรักษาเพื่อควบคุมไม่ให้มีอาการเกิดขึ้น 
จึงจะสามารถป้องกันไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อนเหล่านี้ตามมาได้

มีปัญหาสุขภาพ ปรึกษาเรา"ฟรี"
โทร. 0982846224
Successmore หนองจอก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น